“บวรศักดิ์” ซัด “เนติวิทย์” ตื้นเขิน ระวังเป็น “ปัญหาชน” – เจตนาด้อยค่า ร.5 ใช้ 23 ต.ค.ออกแถลงการณ์

ความจริง! ประเทศไทย

จากกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากหลังจากสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงยกเลิกกิจกรรมขบวน “อัญเชิญพระเกี้ยว” ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 25 ต.ค.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Borwornsak Uwanno” ระบุข้อความว่า เนติวิทย์และคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯอีก 28 คนโปรดจงฟัง

เธอและเราต่างเป็นคนไทย เธอและเราเรียนจุฬาฯเหมือนกัน แต่เราจบปี 2519 เธอยังเรียนอยู่ กรรมการบางคนโดยเฉพาะที่เรียนนิติศาสตร์คงเคยเรียนกับเรา

แต่วันนี้เราจะขอพูดในฐานะคนไทยไม่ใช่ในฐานะอาจารย์หรือนิสิตเก่าจุฬาฯ เธอทั้ง 29 คนออกแถลงการณ์ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 23 ตุลาคม ทั้งที่ปีนี้ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าว และเธอประชุมเรื่องนี้มานานก่อนหน้าวันที่ 23 ตุลา เธอมีวาระซ่อนเร้นที่จะใช้วันปิยมหาราชที่คนไทยระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำสิ่งที่อารยชนไม่ทำกันคือดูถูก ดูหมิ่นพระเกี้ยวอันเป็นสัญลักษณ์ในพระมหาราชเจ้าพระองค์นั้นว่าเป็น “สัญลักษณ์ของศักดินา”

เธอมีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมนั้น เธอมีสิทธิ์ไม่เข้าร่วม เหมือนที่เราไม่เคยเห็นด้วยกับการให้รุ่นพี่ว้าก (ตะโกนด่า) รุ่นน้องในห้องเชียร์ เราจึงไม่เคยเข้าห้องเชียร์ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯเลยตั้งแต่่เข้าเรียนจนเรียนจบในปี2519 เราเคารพการเลือกของเธอ

แต่ที่เราไม่อาจรับได้คือ เธอไม่เคารพคนไทยที่เขายังจงรักภักดีต่อมหาราชพระองค์นั้น เธอเขียนถ้อยคำอันทำร้ายจิตใจของคนไทยเป็นอันมากซึ่งทำให้เรา คนไทยคนหนึ่งต้องออกมาอธิบายให้เธอฟังทีละประเด็นเป็นวิทยาทาน

1) เธออ้างว่ากิจกรรมนั้น “สนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม” เราอยากบอกเธอว่าครูเธอที่คณะรัฐศาสตร์ คงสอนการแบ่งประเภทระบอบการปกครองที่ดีและที่เลวของอริสโตเติลมาแล้วโดยดูจำนวนผู้ใช้อำนาจสูงสุดและวัตถุประสงค์ของการใช้อำนาจว่าเป็นไปเพื่อทุกคนในสังคม (แบบที่ดี) หรือเพื่อตัวผู้ปกครองเท่านั้น (แบบเลว) เธอจำได้ไหมว่าอริสโตเติลจัดระบอบกษัตริย์ (monarchy)ที่ทำเพื่อทุกส่วนในสังคมว่าเป็นการปกครองที่ดี แต่ถ้าทำเพื่อกษัตริย์เองเท่านั้น ท่านจัดเป็นระบอบทรราช (tyrany)

พระมหาราชพระองค์นั้นทรงมีพระราชปณิธานในการทรงสถาปนาการอุดมศึกษาโดยมีพระราชดำรัส ณ โรงเรียนราชกุมาร ที่อ้างกันเสมอว่า

“ทั้งจะมีโรงเรียนวิชาอย่างสูงขึ้นไปอีกซึ่งกำลังคิดจัดอยู่บัดนี้ เจ้านายตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำสุดจะได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้าว่าขุนนางว่าไพร่”

เพราะพระราชปณิธานนี้เองที่ทำให้เธอและเราได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ทรงวางรากฐานอย่างเสมอกัน

เราคงไม่ต้องบอกเธอนะว่า ล้นเกล้าฯพระองค์นั้น ปลดปล่อยทาส และเลิกระบบไพร่ที่เป็นรากฐานของศักดินา หาไม่แล้วบรรพบุรุษทั้งของเธอและของเราคงจะเป็นไพร่อยู่อีกนาน

พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงปฏิรูปการปกครอง การศาลและกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคมเพื่อสยามประเทศและคนไทยเพียงใด ไม่ได้ทรงทำเพื่อพระองค์เอง เราคงไม่ต้องอธิบาย เธอไปค้นคว้าเอาได้ตามวิสัย “นักศึกษา”

2) เธอบอกว่ากิจกรรมนั้น “ค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน” เธออ้างหลักความเสมอภาค (equality) เห็นได้ชัดว่า เธอสับสนระหว่างการแบ่งงานกันทำตามหลัก division of labour กับความเสมอภาค

การที่เธอทำหน้าที่นิสิต และนิสิตอื่นๆเลือกเธอไปทำหน้าที่นายกสโมสร เธอและนิสิตที่เลือกเธอก็ยังเป็นนิสิตเสมอกัน ต่างกันตรงที่เธอถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่นายกสโมสรจนกว่าจะพ้นวาระ ถ้าตรรกะเธอถูกเธอก็ต้องบอกว่านิสิตที่เลือกเธอไม่เสมอภาคกับเธอหรอก เพราะเธอเป็นถึงนายกสโมสร นิสิตคนอื่นจะเท่ากับเธอได้อย่างไร? คนอเมริกันเลือกไบเดนเป็นประธานาธิบดี ถ้าเขาใช้ตรรกะเธอ เขาจะเลือกไบเดนไปทำไม ถ้าเห็นว่าไบเดนมีทำเนียบขาวอยู่ฟรี มีการ์ดตั้งเป็นร้อย มีเงินเดือนและผลประโยชน์อื่นอีกมาก แต่เขาเลือกประธานาธิบดีเขาเพราะเขารู้ว่านั่นคือการแบ่งงานกันทำ ไม่ใช่เลือกเพราะเขาต้องการสนับสนุนความเชื่อที่ว่าคนไม่เท่ากัน การเป็นพระมหากษัตริย์ก็คือการแบ่งหน้าที่และแบ่งงานกัน เหมือนที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในอัคคัญสูตร ว่าพราหมณ์ไม่ได้เกิดจากปากพระพรหมดอก แต่ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูตร คือการแบ่งหน้าที่กันทำ ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ลองคิดดูว่าถ้านิสิตจุฬาฯทุกคนเป็นนายกสโมสรได้เหมือนเธอ เนติวิทย์ อะไรจะเกิดขึ้น???

การแบ่งงานกันเชิญพระเกี้ยวคนหนึ่ง แบกเสลี่ยงอีก 50 คน เป็นการแบ่งงานกันทำ ไม่ใช่ตอกย้ำความไม่เสมอภาค

แม้ความเสมอภาค (equality) ที่เป็นหลักปัจเจกชนนิยม หลักประชาธิปไตยและหลักกฎหมายมหาชน และเป็นคำขวัญการปฏิวัติฝรั่งเศสเอง ก็ไม่ใช่เสมอภาคแบบทื่อๆหลับตาพูด ว่าเท่าเทียมกันทุกคน ทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์ ถ้าคิดแบบนั้นจริง ก็ตื้นเขินเกินไป เพราะไม่มีทางเป็นจริงไปได้เลย

ถ้าเสมอภาคแบบทื่อๆ ทุกคนที่อยากเรียนจุฬาฯ ต้องได้เรียนไม่ใช่หรือ? แต่ทำไม เธอและเพื่อนเธออีก 28 คนและนิสิตอีกจำนวนหนึ่งได้เรียน คนอื่นอีกหลายหมื่นคนอยากเรียนแต่ไม่ได้เรียนล่ะ? แล้วเธอและเพื่อนเธอที่เข้าจุฬาฯได้ เสมอภาคเท่าเทียมกันคนที่เข้าเรียนไม่ได้เหรอ? เธอคงตอบได้ว่ามันไม่เท่าเทียมกันจริงหรอก แต่มันก็ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาคนะ เพราะความเสมอภาคเท่าเทียม 100 % ในทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์ มันเป็นไปไม่ได้ ผู้ประกาศหลักนี้ในคำประกาศสิทธิมนุษย์และพลเมืองฝรั่งเศส 1789 จึงพูดไว้ชัดในคำประกาศข้อ1ว่า

“มนุษย์ทุกคนเกิดมาและดำรงอยู่อย่างมีอิสระและเสมอภาคกันในสิทธิ การแบ่งแยกทางสังคมจะกระทำได้ก็แต่เพื่อประโยชน์ร่วมกัน”
และในข้อ 6 ซึ่งพูดถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายก็วางข้อยกเว้นไว้ว่า

“…..พลเมืองทุกคนย่อมเสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฎหมาย และในเกียรติยศศักดิ์ศรี ตลอดจนฐานะและตำแหน่งหน้าที่การงาน ทั้งนี้ ตามความสามารถของแต่ละคน โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ ยกเว้นการแบ่งแยกด้วยความดีและความสามารถของแต่ละคน”

เธอและคนที่เรียนจุฬาฯอยู่ในเวลานี้ไม่เท่าเทียมกับคนที่ไม่ได้เรียน แต่เป็นความไม่เท่าเทียมหรือการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม (fair discrimination) ที่รับได้และถือว่าไม่ขัดหลักความเสมอภาค เพราะเลือกปฏิบัติด้วยความสามารถในการสอบเข้า ไม่ใช่เลือกปฏิบัติเพราะเหล่ากำเนิด เพศ ศาสนา ความเชื่อฯลฯซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (unfair discrimination) นอกจากนั้น บางเรื่องต้องสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติกันเลยทีเดียวโดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องคนด้อยโอกาสต่างๆ เช่น คนพิการ เด็ก คนชรา ต้องปฏิบัติต่อเขาให้มากกว่าที่ให้คนอื่นเรียกว่าการเลือกปฏิบัติทางบวก (positive discrimination) เพื่อช่วยให้พวกเขาได้เท่าเทียมคนอื่นๆ

ต่อไปถ้าเธอจะอ้างหลักใดๆ โปรดอย่าใช้แต่ความรู้สึก แต่จงใช้ความรู้แทนนะ จะได้ไม่ตื้นเขินเกินบรรยายอีก

3) เธอและพวกของเธอพูดว่า สัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” และขบวนแห่พระเกี้ยวเป็น “ภาพแทนวัฒนธรรมแบบศักดินา”
เธอรู้หรือไม่ว่า เธอใช้เสรีภาพเธอแบบผิดๆ ไปทำร้ายความรู้สึกคนไทยจำนวนมากที่ยังรักและภักดีต่อพระมหาราชเจ้าพระองค์นั้น

วัฒนธรรม ประเพณีเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมที่บอก “ราก” และ “ฐาน” ของสังคมนั้น เราและคนไทยมีความภูมิใจในวัฒนธรรมไทย ภาษาไทย แต่กับเธอเราจะหลีกเลี่ยงที่จะเรียกตัวแทนสโมสรจากคณะนิติศาสตร์ว่าเป็น”ลูกศิษย์”ซึ่งเป็นคำที่บอกวัฒนธรรมไทยที่ลึกซึ้งว่าเราสอนใคร เราคิดว่าเขาเป็นทั้ง “ลูก” และ “ศิษย์” เราต้องรักและปฏิบัติกับเขาเหมือนลูกของเรา เราเรียกเธอด้วยคำกลางๆดีกว่าว่า เธอเป็น “ผู้เรียน” ก็คงจะไม่ว่า (ยกเว้นเธอคนนั่นไม่เคยเข้าเรียน) เห็นหรือยัง ว่าวัฒนธรรมและภาษาไทยของคนไทย สทัอนสิ่งที่ฝรั่งไม่มี เธอหาคำฝรั่งที่แปลว่า “เกรงใจ” ให้เราดูสิว่ามีไหม

คนปฏิเสธวัฒนธรรมคือคนปฏิเสธรากเหง้าของตนเอง!!! คนอังกฤษเขาภูมิใจที่เห็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขัตติยราชภูษาภรณ์เต็มยศเสด็จไปประทับบนพระราชอาสน์ในสภาขุนนางทรงเปิดประชุมสภาที่ปฏิบัติกันมาหลายร้อยปีโดยไม่เคยประนามว่า เป็นวัฒนธรรมศักดินา ตรงกันข้ามเขาภูมิใจว่า เขามีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามและสอดคล้องกับคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย เราไม่เคยเห็นใครว่าประเพณีนั้นของอังกฤษเป็นประเพณีที่ล้าหลังขัดต่อคุณค่าสากลเลย

ในทำนองเดียวกัน เราเห็นว่าประเพณีการแห่พระเกี้ยว เป็นความงดงามที่คนไทย นิสิตไทย มีความกตัญญูต่อพระผู้สถาปนามหาวิทยาลัยที่ใช้พระปรมาภิไธยเป็นมงคลนามของมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่งดงามทั้งใจ กาย โดยเฉพาะต่อองค์พระผู้ทรงยกเลิกระบบศักดินาโดยทรงเลิกไพร่ เลิกทาส เราเชื่อว่าคนไทยอีกหลายล้านคนคงคิดเช่นนี้ เช่นเดียวกับนิสิตจุฬาฯอีกหลายพันคนที่เลือกคุณเป็นนายกสโมสร

กิจกรรมที่เชิญพระเกี้ยวจึงเป็นวัฒนธรรม ประเพณีที่แสดงความกตัญญู รู้คุณต่อพระผู้พระราชทานกำเนิดแก่สถาบันที่เธอและพวกได้เรียนอยู่ในวันนี้ เราภูมิใจทุกครั้งที่เห็นขบวนนี้เหมือนกับคนฝรั่งเศส คนอิตาเลียน คนสเปนที่แห่รูปพระแม่มารี แห่รูปเซนต์ต่างๆที่เขานับถือ ไปด้วยความศรัทธา เป็นความงดงามของคนที่มี “ราก” มี “ฐาน” เป็นที่ตั้ง

เราเสียดายนักที่ เธอใช้ “ความรู้สึก” มาตัดสินเรื่องนี้ แทนที่จะใช้ “ความรู้” เธอจะเป็นปัญญาชนไม่ได้ ถ้าไม่ใช้ปัญญา จงระวังให้ดีว่าใช้ความรู้สึกอย่างเดียวจะทำให้เธอเป็น “ปัญหาชน” ที่ไร้ราก ไร้ฐาน แลอาจจะไร้อะไรๆอีกมากก็ได้

สำหรับอาจารย์จุฬาที่เขาอ้างว่า ไปบังคับนิสิตหอในให้มาแบกเสลี่ยงนั้น ถ้าเป็นความจริงอธิการบดีต้องแก้ไข ห้ามอาจารย์ใช้อำนาจครอบงำผู้เรียนเช่นนั้นอีก หากทำไปเพื่อแสวงประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นผิดพรบ อุดมศึกษา พ.ศ.2562 มาตรา 72 และ78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โปรดอย่าทำอีกเป็นอันขาด

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

คนไทยคนหนึ่งที่ภูมิใจในขบวนแห่พระเกี้ยว

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเฟซบุ๊ก “Borwornsak Uwanno”… สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/410650/

drama-addictdrama-addict
drama-addict

ข่าวdrama addict รวมข่าวdrama addict วันนี้ล่าสุด อัปเดตข่าวของdrama addict ทุกประเด็นข่าววันนี้ ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับdrama addict ข่าวด่วนเกี่ยวกับdrama addict โพส Drama-Addict ,เฟส Drama-Addict ,ข่าว Drama-Addict, ดราม่า - แอดดิค